วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

“กวดวิชา กับปัญหาการศึกษาไทย ?” บทสัมภาษณ์อาจารย์ปิง ดาวองก์



9/03/2555

เป็นบทสัมภาษณ์ ที่ผมอยากให้คนเป็นครูได้อ่าน และได้ชมคลิปนี้ เพราะคุณคือต้นทางของการปฏิรูปการศึกษา
ผมมีโอกาสได้เข้าไปสัมภาษณ์อาจารย์กวดวิชาชื่อดัง เป็นที่รู้จักกันทั้งประเทศ อย่างอาจารย์ปิง ดาวองก์ ผมตั้งประเด็นไว้ว่า กวดวิชา กับปัญหาการศึกษาไทยคำตอบว่าการกวดวิชาเป็นปัญหาของการศึกษาไทยหรือไม่ แล้วปัญหาการศึกษาไทยคืออะไร แล้วจะแก้อย่างไร แก้ที่ใคร อยู่ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ที่ผมและทางงานเข้าไปสัมภาษณ์อาจารย์ปิง ถึงบ้านกันเลยทีเดียวครับ
Nation U Channel ถาม
อาจารย์ปิง ดาวองก์ ตอบ
ถาม จุดเริ่มของการกวดวิชาในประเทศไทย เริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ
ตอบ ถ้ากวดวิชาหมายถึงการสอนพิเศษนะค่ะ มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 แล้วค่ะ ก็ที่พระองค์ท่านจ้างแหม่มแอนนาเข้าไปสอนภาษาอังกฤษในพระบรมมหาราชวัง และต่อมาได้พระอาจารย์ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 บางอาจเข้าใจผิดว่าเพิ่งมามีในปัจจุบัน แต่ความจริงมีมานานแล้วค่ะ
ถาม ในปัจจุบันเขามีการออกข้อสอบ Gat Pat เพื่อลดความต้องการในการกวดวิชาลง อาจารย์คิดว่าอย่างไรครับ
ตอบ ในความคิดครูคิดว่า ถ้าจะไม่ให้เด็กกวดวิชา 1. ก็อยากออกข้อสอบให้มันเกินความรู้เด็กสิ อย่างข้อสอบ Gat กับ Pat เนี่ยเป็นมันข้อสอบความถนัดทางวิชาชีพ นั่นหมายความว่ามันอาจไม่มีสอนในโรงเรียนก็ได้ ทำไมไม่เอาวิชาที่เรียนในโรงเรียนไปสอบล่ะ 2. คือการออกข้อสอบยาก มันทำให้เด็กรู้สึกว่าต้องรู้อะไรเยอะนะ ทำไม่ไม่ออกข้อสอบให้มันง่ายแต่แข่งกันด้วยเวลา สมมติว่าออกข้อสอบยากๆมา 50 ข้อ ก็ออกข้อสอบซัก 1000 ข้อแต่ง่ายหมดเลย คือพอมันง่ายหมดเนี่ย มันจะวัดเด็กด้วยว่าเด็กคนไหนหัวไว 
ถาม นั่นหมายความว่า นี่เป็นความผิดพลาดในการข้อสอบของทางผู้ใหญ่ ทางกระทรวงใช่ไหมครับ
ตอบ อย่าไปคิดแบบนั้น ความเป็นจริงในปัจจุบันถ้าครูมีลูก ครูก็จะให้ลูกกวดวิชา ไม่ใช่เหตุผลเรื่องการสอบนะ เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ถ้าอยู่ในบ้านก็เล่นแต่เกม คุยโทรศัพท์

ถาม – “สมัยนี่เนี่ยการแข่งขันมันสูง ถ้าไม่กวดวิชา แล้วจะเอาอะไรไปแข่งขันกับเขาการศึกษา กับการแข่งขัน อาจารย์คิดเห็นอย่างไรครับ
ตอบ พวกอาจารย์ที่ซีเรียส ก็มักจะคิดอย่างนี้ แต่ครูไม่เป็นน่ะ ครูรู้สึกว่าครูมีความสุขกับการสอน ครูไม่คิดว่าโรงเรียนกวดวิชา คือโรงเรียนกวดวิชา แต่ครูคิดว่ามันคือที่ที่ครูได้สอนนักเรียนที่ครูรัก มันคนละมุมกัน ครูคิดว่าพวกนี้ตอนเด็ก ๆ ไม่รู้ไปเจออะไรกันมา แต่ในชีวิตครู ครูเจอแต่สิ่งที่ดีดีไงคะ นักเรียนก็ดี อะไรก็ดี ครูก็ไม่เคยคิดแบบนั้นเลยค่ะ ฉะนั้นครูอยากบอกผู้สื่อข่าว ซึ่งผู้สื่อข่าวบางคนก็ไปเจอแต่อาจารย์แบบนี้ เจออาจารย์ที่เขาอารมณ์ดีบ้างสิ
ถาม ดูเหมือนว่าการกวดวิชาในต่างประเทศ จะมีน้อยนะครับ จากข้อมูลที่รับรู้มา
ตอบ ไม่จริงค่ะ ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง ก่อนที่เราจะไปเข้ายูโตเกียวเราต้องสอบเข้า ฉะนั้นต้องมีการกวดวิชา เกาหลีหนักกว่าเราอีก และนักเรียนที่ไปเรียนต่ออเมริกา เขาก็กวดทั้งนั้น
ถาม นั่นหมายความว่า ประเทศไทยก็ไม่ได้มีการกวดวิชาที่แพ้ไปกว่าต่างประเทศ
ตอบ แต่ที่ต่างประเทศเขาไม่ได้มีสถาบันการกวดวิชาที่มันอะไรอย่างนี้ ครูคิดว่าถ้าเอาเม็ดเงินด้านธุรกิจการกวดวิชามาเทียบกัน มันก็อาจจะพอกันนะ เธอลองคิดดูถ้าเธอเป็นพ่อแม่เด็ก เธอก็อยากจะเสริมความรู้ให้ลูกอยู่แล้วน่ะ เป็นเรื่องปกติ ครูคิดว่ามีกันอยู่ทุกประเทศ แต่ของประเทศเรา บางคนอาจต่อต้านการกวดวิชาหรือเปล่าเพราะ ไม่มีโอกาส
ถาม ด้านความเท่าเทียมกันในสังคม ครูคิดว่าอย่างไรครับ
ตอบ อย่างครูเวลากระทรวงศึกษาเชิญไป ก็ไปสอน และเวลาเราสอนเราก็ไม่ได้กั๊กวิชา ก็สอนให้เต็มที่ ครูสอนเพราะครูมีความสุข และครูก็เชื่อว่าเด็กที่ครูสอน ก็มีความสุข ครูก็เลยมองคนละแบบกับผู้ใหญ่ที่เจอแต่สิ่งร้ายๆ มาตลอดชีวิต

ถาม เด็กไทยเรียนเรียนหนักที่สุดในโลก ไหนจะเรียนในโรงเรียนอีก ไหนจะต้องเรียนกวดเรียนนอกโรงเรียนอีก อาจารย์คิดว่าตรงนี้มีปัญหาไหมครับ
ตอบ เราต้องยอมรับนะ ว่าอาจารย์ไม่ใช่คนเก่งทุกคน อาจารย์บางคนเขาสอนไม่ดีนะ แต่ครูชอบเข้าไปคุยกับเขาจังเลย เวลาสอนในห้องเขาสอนไม่รู้เรื่อง แต่เวลาเขาคุย เขาคุยสนุก เขาคุยรู้เรื่อง อย่างพวกดอกเตอร์สอนอะไรไม่รู้ พูดอะไรไม่รู้ ไม่รู้เรื่อง แล้วมีเด็กมานั่งฟังอยู่ 3 คนแล้วที่เหลือก็เออออ แล้วเขาก็ดีใจที่มีเด็กนั่งฟังอยู่ 3 คน เป็นครูครูเสียใจนะ เพราะว่าคนที่เป็นครู หน้าที่หลักไม่ใช่คุณความรู้เยอะ แต่คุณต้องถ่ายทอดเป็น อาจารย์สมัยครูเรียนที่ราชภัฎสอนดีมาก แต่ดอกเตอร์สอนไม่รู้เรื่อง คุณอยู่กับกองชีตมากไปไหม
ถาม อาจารย์กำลังจะบอกว่าปัญหาการศึกษาทุกวันนี้ มันมาจากการถ่ายทอดของครู
ตอบ ถูก และอีกอย่างบางคนเขาก็ไม่เขาใจจิตใจเด็ก พูดอะไรออกมาก็ภาษาอะไรไม่รู้ เขาคิดว่าเวลาเขาคุยในกลุ่มกันเขารู้เรื่อง คุณจะเป็นครูไม่ว่าจะระดับไหน ประถม มัธยม ปริญญาตรี โท เอก คุณต้องรักเด็ก คุณต้องช่วยเหลือเด็ก ไม่ใช่คิดว่าเด็กต้องตามคุณ คนไหนโง่ก็ให้มันรีทายออกไป

ถาม ทางออกของปัญหาการศึกษาคืออะไรครับ
ตอบ ต้องมาจากครอบครัวที่ดีนะ / อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนมีนะที่เป็นห่วงเด็ก ทำไมได้เกรดเท่านี้ล่ะลูก ความรักไงที่คุณต้องให้เขา ไม่ใช่วิชาการอย่างเดียว คนที่ให้แต่วิชาการอย่างเดียว ควรจะเรียกตัวเองว่านักวิชาการ ที่มาสอน อย่าเรียกเลยว่าเป็นครู ครูต้องให้ความรักนักเรียน ต้องมีความเอื้ออาทรต่อเด็ก
ถาม นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะเรียนในห้องเรียนมากขนาดไหน บางทีการออกมากวดวิชา แล้วมาเจออาจารย์ที่เป็นอย่างอาจารย์ ที่ให้ความรักต่อเด็ก อาจารย์กำลังจะสะท้อนใช่ไหมครับว่านี่ไงทางออกของการศึกษาไทย คือการที่ครูให้ความรัก ความเมตตาต่อเด็ก เข้าใจเด็ก
ตอบ ครูไม่เคยสะท้อนหรอกค่ะ นี่คือตัวครูเองจริงๆ ครูไม่คิดหรอกค่ะ ว่าครูทุกคนต้องเป็นแบบครู แต่ครูเพียงแค่อยากจะบอกว่า เด็กหลายคนเขาขาดความอบอุ่นจากอาจารย์เคยรู้บางไหม ทั้งที่โรงเรียน ทั้งมหาวิทยาลัย คุณเป็นแค่นักวิชาการที่มาสอน แล้วคุณก็ชมกันเองให้เป็นอาจารย์ดีเด่น คุณสอนเด็กอยู่ 40 คน แล้วคุณสอนสำเร็จอยู่ 10 คน แล้วก็เอาเด็ก 10 นี้มาโอ้อวดตลอดเวลา แล้วอีก 30 คนที่เหลือล่ะ เคยดูแลเขาบางหรือเปล่า โทษแต่เด็กที่เรียนเลขไม่รู้เรื่อง แล้วเคยคิดที่จะไปสอนเขาบ้างหรือเปล่าแทนที่จะไปโทษเขา นี่ครูมาพูดแทนเด็กหลายๆ คน เด็กหลายๆ คนที่บางทีตั้งใจนะ แต่เรียนไม่รู้เรื่อง เคยสงสารเขาบางไหม คำพูดของคุณถ้าไปบาดจิตใจเขาให้เป็นแผลลึกๆ อยู่ในใจตั้งแต่ตอนประถม จนเขาไม่ตั้งใจเรียนมาจนถึงมัธยม เคยรู้บ้างไหม ..ว่าเป็นเพราะคุณ ....

ฝ่ายข่าว Nation U Channel

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น